พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555

Download
Download is available until [expire_date]
  • Version
  • Download 2
  • File Size 50.82 KB
  • File Count 1
  • Create Date 25 กุมภาพันธ์ 2018
  • Last Updated 25 กุมภาพันธ์ 2018

พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555

พระราชกำหนด
การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
พ.ศ. ๒๕๕๕

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕
เป็นปีที่ ๖๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย

พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. ๒๕๕๕”

มาตรา ๒[๑] พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกำหนดนี้
“อุทกภัย” หมายความว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ และในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังเกี่ยวกับเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
“สถาบันการเงิน” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินและธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

มาตรา ๔ ให้มีการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้ ภายในวงเงินจำนวนไม่เกินสามแสนล้านบาท โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินร่วมกันดำเนินการดังกล่าว

มาตรา ๕ นอกเหนือจากการให้กู้ยืมเงินตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราวเพื่อให้สถาบันการเงินนำไปใช้ในการให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
อัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ให้คิดเท่ากับร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่งต่อปี
การให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน นอกจากจะให้กู้ยืมโดยทำสัญญากู้ยืมแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจให้กู้ยืมโดยการรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินที่สถาบันการเงินผู้กู้เป็นผู้ออกก็ได้
การจัดสรรวงเงินในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา ๖ เงินที่สถาบันการเงินได้รับจัดสรรตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง ต้องนำไปใช้ในการให้กู้ยืมแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
(๑) บุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนา ที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน สถานที่ประกอบอาชีพหรือสถานประกอบธุรกิจหรือการค้าของตนอยู่ในเขตพื้นที่อุทกภัย
(๒) ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่อยู่ในเขตพื้นที่อุทกภัย

มาตรา ๗ การให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย สถาบันการเงินต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) วงเงินที่ให้กู้ยืมต้องเป็นเงินในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินในสัดส่วนไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบของวงเงินดังกล่าว และสถาบันการเงินออกเงินสมทบในส่วนที่เหลือจนเต็มวงเงินที่ให้กู้ยืม
(๒) สถาบันการเงินต้องคิดอัตราดอกเบี้ยในการให้กู้ยืมเงินตาม (๑) ไม่เกินร้อยละสามต่อปี

มาตรา ๘ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณากำหนดจำนวนวงเงินที่จะจัดสรรให้แก่สถาบันการเงินแต่ละแห่งในการกู้ยืมเงิน
สถาบันการเงินที่ได้รับการจัดสรรเงินตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำขอกู้ยืมเงินต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

มาตรา ๙ ในกรณีที่สถาบันการเงินได้รับชำระคืนต้นเงินกู้จากผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ให้ดำเนินการส่งคืนต้นเงินกู้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินต้องชำระคืนเงินที่ได้กู้ยืมตามพระราชกำหนดนี้ภายในเวลาห้าปีนับแต่ได้รับเงินกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ต้องไม่เกินวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑

มาตรา ๑๐ การยื่นคำขอกู้ยืมเงินตามมาตรา ๘ วรรคสอง และการชำระคืนเงินกู้ตามมาตรา ๙ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

มาตรา ๑๑ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙ (๔) แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับกับการให้กู้ยืมเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยตามพระราชกำหนดนี้

มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้เกิดวิกฤตการณ์อุทกภัยอย่างร้ายแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทยซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องบูรณะและฟื้นฟูประเทศ เยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชน รวมทั้งดำเนินการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ โดยการจัดให้มีการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น นอกจากนี้ ผลจากการเกิดความเสียหายนั้นยังทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมเริ่มถดถอยและอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของสาธารณะ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการฟื้นฟูประเทศ ทั้งการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย การป้องกันภัยพิบัติที่ใกล้จะถึงและการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพของประชาชนและผู้ลงทุน ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนหลายแนวทาง และในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อเยียวยาสภาพความเป็นอยู่ สถานประกอบการ การประกอบธุรกิจกิจการ และทรัพย์สินต่าง ๆ ให้กลับคืนสู่สภาพหรือภาวะปกติดังเดิม แต่โดยที่ประชาชนและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ประสบอุทกภัยมีจำนวนมาก และมีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเป็นพิเศษ สมควรกำหนดให้มีการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่บุคคลดังกล่าวเป็นการเฉพาะโดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราว เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปใช้ในการให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยต่อไปในอัตราดอกเบี้ยต่ำ อันเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและสร้างเสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจโดยรวม หากการดำเนินการดังกล่าวล่าช้า ความเสียหายทางเศรษฐกิจอาจจะเพิ่มมากขึ้นจนกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

ปริยานุช/ผู้จัดทำ
๒๗ มกราคม ๒๕๕๕

ชาญ/ผู้ตรวจ
๓๑ มกราคม ๒๕๕๕

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๙/ตอนที่ ๑๐ ก/หน้า ๑๑/๒๖ มกราคม ๒๕๕๕