พระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗

Download
Download is available until [expire_date]
  • Version
  • Download 0
  • File Size 122.99 KB
  • File Count 1
  • Create Date 25 กุมภาพันธ์ 2018
  • Last Updated 25 กุมภาพันธ์ 2018

พระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗

พระราชกำหนด
การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
พ.ศ. ๒๕๒๗

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๗
เป็นปีที่ ๓๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗”
มาตรา ๒[๑] พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชกำหนดนี้
“กู้ยืมเงิน”[๒] หมายความว่า รับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การยืม การจำหน่ายบัตรหรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็นสมาชิก การรับเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในลักษณะอื่นใด โดยผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่นจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงินหรือของผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าการรับหรือจ่ายเงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใด หรือผลประโยชน์ตอบแทนนั้น จะกระทำด้วยวิธีการใด ๆ
“ผลประโยชน์ตอบแทน”[๓] หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดที่ผู้กู้ยืมเงิน หรือบุคคลอื่นจ่ายหรือจะจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินเพื่อการกู้ยืมเงิน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะจ่ายในลักษณะดอกเบี้ย เงินปันผล หรือลักษณะอื่นใด
“ผู้กู้ยืมเงิน” หมายความว่า บุคคลผู้ทำการกู้ยืมเงิน และในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินเป็นนิติบุคคล ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งลงนามในสัญญาหรือตราสารการกู้ยืมเงินในฐานะผู้แทนของนิติบุคคลนั้นด้วย
“ผู้ให้กู้ยืมเงิน” หมายความรวมถึง บุคคลซึ่งผู้ให้กู้ยืมเงินระบุให้เป็นบุคคลที่ได้รับต้นเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้กู้ยืมเงิน
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกำหนดนี้
มาตรา ๔[๔] ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
ผู้ใดไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ดำเนินการ หรือให้พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลใดดำเนินการโฆษณา ประกาศหรือชักชวนประชาชนให้ลงทุนโดย
(๑) ซื้อหรือขายเงินตราสกุลใดสกุลหนึ่งหรือหลายสกุล หรือ
(๒) เก็งกำไรหรืออาจจะได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วย
มาตรา ๕ ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้
(๑) ในการกู้ยืมเงินหรือจะกู้ยืมเงิน
(ก) มีการโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป หรือโดยการแพร่ข่าวด้วยวิธีอื่นใด หรือ
(ข) ดำเนินกิจการกู้ยืมเงินเป็นปกติธุระ หรือ
(ค) จัดให้มีผู้รับเงินในการกู้ยืมเงินในแหล่งต่าง ๆ หรือ
(ง) จัดให้มีบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ไปชักชวนบุคคลต่าง ๆ เพื่อให้มีการให้กู้ยืมเงิน หรือ
(จ) ได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินเกินสิบคนซึ่งมีจำนวนเงินกู้ยืมรวมกันตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป อันมิใช่การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน และ
(๒) ผู้นั้น
(ก) จ่าย หรือโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าว หรือตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน จะพึงจ่ายได้ หรือ
(ข) ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗ (๑) (๒) หรือ (๓) หรือกิจการของผู้นั้นตามที่ผู้นั้นได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗ ไม่ปรากฏหลักฐานพอที่จะเชื่อได้ว่า เป็นกิจการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินทั้งหลาย
ผู้นั้นต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา ๔ ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้นั้นจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า กิจการของตนหรือของบุคคลที่ตนอ้างถึงนั้น เป็นกิจการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายตามที่ตนได้กล่าวอ้าง หรือหากกิจการดังกล่าวไม่อาจให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียง ก็จะต้องพิสูจน์ได้ว่ากรณีดังกล่าวได้เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผิดปกติอันไม่อาจคาดหมายได้ หรือมีเหตุอันสมควรอย่างอื่น
มาตรา ๖ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณอัตราผลประโยชน์ตอบแทนตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ ในกรณีที่ผู้กู้ยืมเงินได้จ่ายหรือจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนที่มิใช่เป็นตัวเงิน ให้คำนวณมูลค่าของผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวออกเป็นจำนวนเงิน
ในกรณีที่พฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงินไม่เปิดช่องให้คำนวณผลประโยชน์ตอบแทนเป็นจำนวนเงินแน่นอนได้ ให้ประมาณการจากอัตราผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่คาดว่าผู้ให้กู้ยืมเงินจะได้รับ หากจะมีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนนั้น[๕]
มาตรา ๗ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ใดได้กระทำความผิดตามมาตรา ๔ หรือกระทำการตามมาตรา ๕ (๑) หรือ (๒) (ก) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) มีหนังสือเรียกให้ผู้นั้นหรือบุคคลใดที่พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบถึงการกู้ยืมเงิน มาให้ถ้อยคำ
(๒) สั่งให้บุคคลดังกล่าวตาม (๑) รายงานสภาพกิจการของตนตลอดจนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของตน
(๓) สั่งให้บุคคลดังกล่าวตาม (๑) นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินมาตรวจสอบ
(๔) เข้าไปในสถานที่ใด ๆ ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อทำการตรวจสอบหรือค้นบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นของบุคคลดังกล่าวตาม (๑) ในการนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งบุคคลที่อยู่ในสถานที่นั้นให้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือค้น ตามควรแก่เรื่อง และให้มีอำนาจยึดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานเหล่านั้น มาตรวจสอบได้
การเรียกหรือการสั่งตาม (๑) (๒) หรือ (๓) ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหนังสือเรียกหรือคำสั่ง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน
เมื่อได้เข้าไปและลงมือทำการตรวจสอบหรือค้นตาม (๔) แล้ว ถ้ายังดำเนินการไม่เสร็จ จะกระทำการต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้
มาตรา ๘ ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้กู้ยืมเงินผู้ใดที่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย หรือมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้สิน และเห็นสมควรให้มีการดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้นไว้ก่อนเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงิน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุมัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้นไว้ก่อนได้ แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้เกินกว่าเก้าสิบวันไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีมีการฟ้องคดีต่อศาลตามมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ ให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวยังคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น
เมื่อได้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ใดไว้ตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้กู้ยืมเงินที่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย หรือมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้สิน แต่ยังไม่สมควรสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินคดีล้มละลายต่อไปตามมาตรา ๑๐
การยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติตามประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๙ เมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องคดีอาญาแก่ผู้ใดในความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ ถ้าผู้ให้กู้ยืมเงินร้องขอ ให้พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกต้นเงินคืนให้แก่ผู้นั้นได้ และจะเรียกผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายให้แก่ผู้นั้นด้วยก็ได้ ในการนี้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๐ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนผู้ให้กู้ยืมเงิน ให้พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องผู้กู้ยืมเงินที่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ เป็นบุคคลล้มละลายได้ เมื่อ
(๑) เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือมีสินทรัพย์ไม่พอชำระหนี้สินได้
(๒) เป็นหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินรายหนึ่งหรือหลายรายเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาท และ
(๓) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
การฟ้องคดีล้มละลายตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามกฎหมายว่าด้วยการล้มละลาย โดยให้ถือว่าพนักงานอัยการมีฐานะ และสิทธิหน้าที่เสมือนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ และให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม ค่าฤชาธรรมเนียม หรือการต้องวางเงินประกันต่าง ๆ ตามกฎหมายดังกล่าว
ในการพิจารณาคดีล้มละลาย ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด
ในการพิพากษาคดีล้มละลายตามมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับส่วนแบ่งทรัพย์สินของเจ้าหนี้ในลำดับ (๘) ของมาตรา ๑๓๐ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ตอบแทนที่เจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมเงินแต่ละรายได้รับมาแล้วก่อนมีการดำเนินคดีล้มละลายประกอบด้วย
มาตรา ๑๑ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง
บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา ๑๑/๑[๖] ในกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ ให้ผู้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดมีสิทธิได้รับเงินสินบนและให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจค้นหรือจับกุมผู้กระทำความผิดมีสิทธิได้รับเงินรางวัล โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลสั่งจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลจากค่าปรับที่ผู้กระทำความผิดได้ชำระต่อศาลเมื่อคดีถึงที่สุด
การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลให้จ่ายเป็นจำนวนรวมกันแล้วร้อยละยี่สิบห้าของค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล
หลักเกณฑ์และวิธีการขอรับเงินสินบนและเงินรางวัล การกำหนดส่วนแบ่งในระหว่างผู้มีสิทธิหลายราย และการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด
มาตรา ๑๒ ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
มาตรา ๑๓ ผู้ใดขัดขวาง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๗ (๔) หรือมาตรา ๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
มาตรา ๑๔ ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกหรือคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๗ (๑) (๒) หรือ (๓) หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน และปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
มาตรา ๑๕[๗] ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย
ความในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับแก่พนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคลซึ่งปรากฏพยานหลักฐานว่ามีพฤติกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลด้วย
มาตรา ๑๕/๑[๘] ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ ถ้าได้กระทำความผิดนั้นซ้ำอีกในระหว่างรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษอยู่ก็ดี หรือภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษก็ดี หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นอีกหนึ่งเท่าของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง
มาตรา ๑๕/๒[๙] ในกรณีคนต่างด้าวต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ ให้เนรเทศผู้นั้นออกนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการเนรเทศ ถ้าผู้นั้นจะต้องรับโทษก็ให้รับโทษก่อน
มาตรา ๑๖ ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดได้กระทำความผิดตามมาตรา ๓๔๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และการกระทำของผู้นั้นมีลักษณะเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตามมาตรา ๗ และมาตรา ๘ และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ มาใช้บังคับ
มาตรา ๑๗ การกู้ยืมเงินที่มีลักษณะเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๔ หรือมาตรา ๕ ซึ่งมีสัญญาหรือข้อตกลงการกู้ยืมเงินที่ได้กระทำไว้ก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้สัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวเท่าที่มีผลผูกพันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ยังคงมีผลใช้ได้ต่อไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด ให้สัญญาหรือข้อตกลงนั้นมีผลผูกพันได้ต่อไป และให้สิ้นสุดลงเมื่อครบหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันให้สัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวสิ้นสุดลงก่อนกำหนดนั้น หรือคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้สิทธิเรียกให้ชำระหนี้หรือชำระหนี้หรือบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ตามสิทธิของตนก่อนกำหนดนั้น
(๒) ถ้าสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวมีระยะเวลาสิ้นสุดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้สัญญาหรือข้อตกลงนั้นสิ้นสุดลงตามที่ได้สัญญาหรือตกลงไว้นั้น เว้นแต่คู่สัญญาจะตกลงกันให้สัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวสิ้นสุดลงก่อนกำหนดนั้น หรือคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลง ตามสิทธิของตนก่อนกำหนดนั้น
(๓) ถ้าสัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวมีระยะเวลาสิ้นสุดภายหลังหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้สัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ เว้นแต่คู่สัญญาจะมาจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคสองภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ก็ให้ข้อสัญญาหรือข้อตกลงนั้นสิ้นสุดลงตามที่ได้จดทะเบียนไว้ อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นการตัดสิทธิคู่สัญญาที่จะตกลงกันให้สัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวสิ้นสุดลงก่อนกำหนดนั้น หรือคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงตามสิทธิของตนก่อนกำหนดนั้น
หลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนสัญญาหรือข้อตกลงตาม (๓) ของวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และในกรณีที่มีการยื่นคำขอจดทะเบียนโดยคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว พนักงานเจ้าหน้าที่จะจดทะเบียนให้ได้ต่อเมื่อได้มีหนังสือสอบถามไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งและคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้ให้ความยินยอมและยอมรับข้อความในสัญญาหรือข้อตกลงที่นำมาขอจดทะเบียนนั้นแล้ว
ในการรับจดทะเบียน ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าสัญญาหรือข้อตกลงใดกระทำขึ้นหลังวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งปฏิเสธการจดทะเบียนพร้อมทั้งให้เหตุผลต่อผู้ขอจดทะเบียน ถ้าผู้ขอจดทะเบียนไม่เห็นด้วย ให้มีสิทธิไปร้องขอต่อศาลภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ศาลมีคำวินิจฉัยแสดงว่าสัญญาหรือข้อตกลงนั้นได้กระทำขึ้นก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
บทบัญญัติมาตรานี้ มีผลใช้บังคับในทางแพ่งและไม่มีผลเป็นการลบล้างความผิดอาญาแต่อย่างใด
มาตรา ๑๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชกำหนดนี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชกำหนดนี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประจวบ สุนทรางกูร
รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากขณะนี้ปรากฏว่า มีการกู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป โดยมีการจ่ายดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อย่างอื่นตอบแทนให้สูงเกินกว่าประโยชน์ที่ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้รับฝากเงินจะพึงหามาได้จากการประกอบธุรกิจตามปกติ โดยผู้กระทำได้ลวงประชาชนที่หวังจะได้ดอกเบี้ยในอัตราสูงให้นำเงินมาเก็บไว้กับตนด้วยการใช้วิธีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงเป็นเครื่องล่อใจ แล้วนำเงินที่ได้มาจากการกู้ยืมหรือรับฝากเงินรายอื่น ๆ มาจ่ายเป็นดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินหรือผู้ฝากเงินรายก่อน ๆ ในลักษณะต่อเนื่องกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการฉ้อโกงประชาชน เพราะเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่า ในที่สุดจะต้องมีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถได้รับต้นเงินกลับคืนได้ และผู้กู้ยืมเงินหรือผู้รับฝากเงินกับผู้ที่ร่วมกระทำการดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากเงินที่ตนได้รับมา เพราะผู้ให้กู้ยืมเงินหรือผู้ฝากเงินไม่สามารถบังคับหรือติดตามให้มีการชำระหนี้ได้ อนึ่ง กิจการดังกล่าวนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว หากปล่อยให้มีการดำเนินการต่อไปย่อมจะก่อให้เกิดผลร้ายแก่ประชาชนทั่วไป และจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ สมควรที่จะมีกฎหมายเพื่อปราบปรามการกระทำดังกล่าว กับสมควรวางมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวง และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันจะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การอนุมัติพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.๒๕๒๗[๑๐]
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ พ.ศ. ๒๕๓๔[๑๑]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่ามีบุคคลประกอบกิจการโดยวิธีชักจูงให้ผู้อื่นส่งเงิน หรือผลประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ตน และให้ผู้นั้นชักจูงผู้อื่นตามวิธีการที่กำหนด และแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเข้าใจว่า ถ้าได้ปฏิบัติตามจนมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้าร่วมต่อ ๆ ไปจนครบวงจรแล้วผู้ถูกชักจูงจะได้รับกำไรมากกว่าเงินหรือประโยชน์ที่ผู้นั้นได้ส่งไว้ ดังเช่นที่บางคนเรียกว่า แชร์ลูกโซ่ ในที่สุดการดำเนินการเช่นนั้นจะมิได้เป็นไปตามคำชักจูง แต่กลับจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้หลงเชื่อ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำนั้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ ให้ครอบคลุมถึงการกระทำดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕[๑๒]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันได้มีการหลอกลวงประชาชนให้นำเงินเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศหรือเก็งกำไร ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนที่ถูกหลอกลวงแล้วยังเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่บทบัญญัติของพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ ในปัจจุบันไม่อาจใช้บังคับครอบคลุมแก่การกระทำดังกล่าวได้ จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และกำหนดให้การโฆษณา หรือประกาศ หรือการกระทำใด ๆ ให้ประชาชนนำเงินเข้ามาร่วมลงทุนลักษณะดังกล่าว เป็นความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วย ประกอบกับสมควรเพิ่มเติมบทบัญญัติในเรื่องการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนความรับผิดของพนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคลผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้นเมื่อมีการกระทำความผิดซ้ำ และการเนรเทศผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นคนต่างด้าว รวมทั้งให้มีการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลเพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๐[๑๓]
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษทางอาญาร่วมกับการกระทำความผิดของนิติบุคคล โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในลักษณะดังกล่าวทำนองเดียวกัน คือ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๗๘ พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. ๒๕๐๙ มาตรา ๒๘/๔ และพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๒/๕ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖ ดังนั้น เพื่อแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและกฎหมายอื่นที่มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

อังศุมาลี/ผู้จัดทำ
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖
อุดมลักษณ์/ผู้ตรวจ
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖
วริญา/เพิ่มเติม
๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
วิชพงษ์/ตรวจ
๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๑/ตอนที่ ๑๖๔/ฉบับพิเศษ หน้า ๑/๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๗
[๒] มาตรา ๓ นิยามคำว่า “กู้ยืมเงิน” แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ พ.ศ. ๒๕๓๔
[๓] มาตรา ๓ นิยามคำว่า “ผลประโยชน์ตอบแทน” แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ พ.ศ. ๒๕๓๔
[๔] มาตรา ๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕
[๕] มาตรา ๖ วรรคสอง เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕
[๖] มาตรา ๑๑/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕
[๗] มาตรา ๑๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๐
[๘] มาตรา ๑๕/๑ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕
[๙] มาตรา ๑๕/๒ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕
[๑๐] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๒/ตอนที่ ๖๗/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑/๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๘
[๑๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘/ตอนที่ ๑๒๙/ฉบับพิเศษ หน้า ๑๑/๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๔
[๑๒] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙/ตอนที่ ๑๒๒ ก/หน้า ๑/๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๕
[๑๓] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔/ตอนที่ ๑๘ ก/หน้า ๑/๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐